Great Minaret of the Kalon
- Amarit Pinpat
- Feb 3, 2019
- 1 min read

Great Minaret of the Kalon (มินาเร็ทแห่งคาลอน)
มินาเร็ทแห่งคาลอน ตั้งอยู่ที่เมืองบูคารา (Bukhara) ประเทศอุซเบกิสถาน (Uzbekistan) ก่อนที่จะมารู้จักสถานที่แห่งนี้ เรามมาทำความรู้จักกับเมืองบูคารากันก่อนแล้วกัน
บูคารา (Bukhara) เป็นเมืองโอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย เป็นจุดศูนย์กลางสำคัญทางการค้าบนเส้นทางสายแพรไหม เป็นจุดแวะพักของกองคาราวาน เป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามในเอเชียกลาง เป็นเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้ บูคาร่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ยังมีลมหายใจ ผู้คนที่นี่ยังมีวิถีชีวิตไม่แตกต่างจากเมื่อหลายร้อยปีก่อน บรรยากาศในเขตเมืองเก่า ให้ความรู้สึกย้อนยุคเหมือนท่ามกลางขบวนคาราวาน ทั้งสภาพบ้านเรือน ร้านค้า การแต่งกายของผู้คน ราวกับว่านาฬิกาได้หยุดเดินเมื่อห้าร้อยปีก่อน ณ นครแห่งนี้ ชื่อเมืองบูคาราเชื่อว่าอาจจะมาจากภาษาเปอร์เซียโบราณว่าบูคารัค (Bukharak) ซึ่งแปลว่าสถานที่แห่งความสุขความโชคดี บางตำราบอกว่ามาจากภาษาสันสกฤตว่าวิหารา (Vihara) ซึ่งก็คือวิหารในภาษาไทยนั่นเอง (จริง ๆ เสียง ค ควายในภาษาอาหรับจะออกคล้าย ๆ เสียง ฮ นกฮูก แบบขากเสมหะ บูคารา จะออกเสียงคล้าย ๆ บูฮารา ซึ่งคล้ายคลึงกับคำว่าวิฮาราหรือวิหารนั่นเอง) ที่มานี้มาจากความเชื่อที่ว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นเมืองที่ประชาชนนับถือพุทธศาสนามาก่อนที่อิสลามจะเข้ามามีอิทธิพลในคริสต์ศตวรรษที่ 8 เมืองนี้ถูกรุกรานและผลัดเปลี่ยนกันครอบครองหลายครั้ง ตั้งแต่กองทัพกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เปอร์เซีย มองโกล เติร์ก ใครมาทีก็เผาที เผาแล้วก็สร้างขึ้นใหม่ตรงที่เดิม ทำให้พื้นดินและประวัติศาสตร์ที่นี่ซ้อนทับกันหลายระนาบ ยุคทองของบูคาราคือในศตวรรษที่ 10-12 เมื่อถูกปกครองด้วยราชวงศ์ซามานิดของเปอร์เซีย ในยุคนี้มีประชากรอาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียกลาง มีนักคิด นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงหลายท่านอาศัยอยู่ในบูคารา เป็นคู่แข่งกับแบกแดดในด้านความเจริญและความเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม ในศตวรรษที่ 13 เจงกิสข่านยาตราทัพจากทุ่งหญ้าทางตอนเหนือเผาทำลายทุกเมืองที่ผ่าน จนมาถึงบูคาราซึ่งประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ เมืองทั้งเมืองถูกเผาทำลายจนราบ ยกเว้นเพียงสามแห่งที่ไม่ถูกทำลาย ซึ่งเราจะได้เห็นกันต่อไป บูคาราค่อย ๆ ฟื้นตัว จนถึงศตวรรษที่ 16-18 จึงกลับสู่ความรุ่งเรืองสูงสุดอีกครั้ง ในยุคนี้มีการสร้างอาคารต่าง ๆ ขึ้นใหม่หลายหลังอย่างวิจิตรอลังการด้วยเทคโนโลยีที่มีในสมัยนั้นราวกับต้องการข่มอาคารที่สร้างมาก่อนหน้านี้ อาคารที่เราเห็นในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างในยุคนี้ทั้งนั้น
มาต่อที่มินาเร็ทแห่งคาลอนกันดีกว่า ตัวมินาเร็ทแห่งคาลอนนั้นตั้งอยู่ที่ Poi Kalyan Mosque เป็นจัตุรัสขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นมัสยิดประจำเมืองบูคารา อีกด้านหนึ่งตรงข้ามกันเป็นมาดราซาที่ยังใช้การอยู่ แต่จุดเด่นที่สุดของจัตุรัสแห่งนี้คือหอคอยขนาดสูงใหญ่ที่เรียกว่ามินาเรต (minaret) ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของบูคาราแห่งนี้นั่นเอง ในศาสนาอิสลามจะนิยมสร้างมินาเรตขึ้นข้าง ๆ มัสยิดเพื่อทำหน้าที่ประกาศเรียกให้ชาวบ้านในละแวกนั้นมาทำพิธีละหมาด 5 ครั้งต่อวัน เรียกว่าการอะซานหรือการบัง ภาษาไทยเลยเรียกมินาเรตว่าหออะซานหรือหอบัง คำว่ามินาเรต (minaret) มาจากภาษาอาหรับว่ามานารา (manara) ซึ่งแปลว่าประภาคาร ฉะนั้นหน้าที่ของมินาเรตอีกอย่างคือทำหน้าที่ส่องไฟเพื่อบอกทิศทางหรือจุดหมายสำหรับกองคาราวานที่เดินทางยามค่ำคืน และสร้างให้สูงเพื่อให้มองเห็นได้จากที่ไกล ๆ ในเวลากลางวัน นอกจากนั้นยังไว้ใช้สังเกตการณ์เฝ้าดูข้าศึกในยามสงคราม นับว่ามินาเรตเป็นสิ่งคู่กับมัสยิดเหมือนโบสถ์คริสต์ที่มักจะมีหอระฆังอยู่ข้าง ๆ กัน มินาเร็ทแห่งคาลอนสร้างในปี ค.ศ. 1127 คำว่าคาลอนแปลว่ายิ่งใหญ่ มีความสูงถึง 47 เมตร ฐานขุดลึกลงไป 10 เมตร มีการวางฐานรากอย่างดีเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว ที่ฐานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร แล้วสอบขึ้นด้านบนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ตกแต่งเป็นแถบรอบมินาเรต มีทั้งหมด 14 แถบ ทำเป็นลวดลายเรขาคณิต แต่ละแถบไม่ซ้ำกันเลย มีแถบหนึ่งเป็นกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินพร้อมจารึกภาษาอารบิกชื่อผู้สร้าง (บาโค) ปีที่สร้าง และชื่อของอัสลานข่าน (Arslan Khan) ผู้สั่งให้สร้าง ภายในมีบันไดวน 105 ขั้นจนถึงยอดซึ่งทำเป็นช่องโค้ง 16 ช่อง นับเป็นเวลาเกือบ 900 ปีที่มินาเรตแห่งนี้ยืนหยัดท้าทายกาลเวลาโดยมีการซ่อมแซมตกแต่งแต่เพียงภายนอกเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้จากรูปเป็นรอยสีอ่อนกว่าบริเวณอื่น นั่นคือจุดที่มีซ่อมแซมเมื่อปี ค.ศ. 1920 คาลอนมินาเรตคือสิ่งก่อสร้างแห่งที่สองที่ไม่ถูกทำลายโดยกองทัพเจงกิสข่าน ตำนานกล่าวว่าเมื่อเจงกิสข่านมาถึงคาลอนมินาเรต เกิดลมพายุพัดหมวกปลิวหลุดจากศีรษะ เจงกิสข่านต้องก้มลงเก็บหมวกที่ฐานของมินาเรต เจงกิสข่านจึงเชื่อว่ามินาเรตแห่งนี้ไม่ธรรมดาถึงกับทำให้ท่านต้องก้มหัวให้ ท่านจึงสั่งไม่ให้ทำลายในขณะที่มัสยิดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยรอบถูกเผาเรียบ นอกจากนี่ยังมีจารึกภาษาอาหรับ ชื่อผู้สร้าง ปีที่สร้าง และผู้สั่งให้สร้าง ถ้าสังเกตดูลวดลายที่เป็นแถบ ๆ สร้างไม่ซ้ำกันเลย
ถ้าท่านใดมาเที่ยวอุซเบกิสถาน อย่าลืมแวะมาเที่ยวนะที่แห่งนี้นะครับ รัยลองท่านจะไม่เสียใจเลย
- จำไว้เพื่อได้เที่ยว
Comments